พระธาตุยาคู(ธาตุนายใหญ่)


 

          พระธาตุยาคูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ชาวบ้านเรียกว่า ธาตุยาคู และนับถือกันมาก คำว่า ยาคู เป็นภาษาพื้นเมือง หมายถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทุก ๆ ปี ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 มีการสรงน้ำที่พระเจดีย์และมีงานประเพณีจุดบ้องไฟ โบราณสถานหมายเลข 10 เป็นโบราณสถานที่ใหญ่กว่าทุกแห่ง เริ่มขุดแต่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2511 ถึง วันที่ 12 มีนาคม 2511 ใช้เวลาขุดแต่ง 26 วัน แล้วเสร็จ

  

 

 

          ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม กลุ่มพระธาตุยาคูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ประกอบด้วยโบราณสถานจำนวน 6 แห่ง คือ

                1.ลักษณะโบราณสถานหมายเลข 10 เมื่อขุดแต่งแล้วฐานพระเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม ยาวด้าน 16 เมตร สูง 1.15 เมตร มีมุขยื่นออกไปจากฐาน 3.75 เมตร หน้ามุขกว้าง 6.50 เมตร ทั้ง 4 ด้านและที่หน้ามุขยังมีมุขยื่นออกไปอีก 2.50 เมตร กว้าง 3 เมตรพระเจดีย์หมายเลข 10 นี้มีฐานสี่เหลี่ยมมีมุขซ้อนกัน 2 ชั้นทั้งสี่ด้าน และที่ข้างผนังฐานระหว่างมุขทิศตะวันออกกับมุขทิศเหนือยังมีลวดลายปูนปั้นสมัยทวารวดีติดอยู่ บนฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์ก่ออิฐเป็นรูปแปดเหลี่ยม ยาวด้านละ 5.50 เมตร ซ้อนขึ้นไป 3 ชั้น สูง 1.50 เมตร และสูงจากฐานแปดเหลี่ยมขึ้นไปเป็นรูปองค์พระเจดีย์ แต่อิฐที่ก่อสูงขึ้นไปเป็นสมัยอยุธยา คงจะถูกซ่อมตอนสมัยอยุธยามาครั้งหนึ่งแล้ว จากอิฐสมัยอยุธยาสูงขึ้นไปประมาณ 5 เมตร ถึงยอดสุดชาวบ้านเสมาได้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2500 ความสูงของพระเจดีย์จากฐานถึงยอด 15 เมตร พื้นฐานเดิมอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน 1 เมตร

                 2.โบราณสถานหมายเลข 102 เจดีย์บริวาร  ตั้งอยู่ห่างจากพระธาตุยาคูมาทางทิศใต้ประมาณ 7 เมตร มีลักษณะเป็นฐานย่อไม้หน้ายี่สิบ กว้างด้านละ 5.5 เมตร

                 3.โบราณสถานหมายเลข 103 เจดีย์บริวาร  ตั้งอยู่ห่างจากโบราณสถานหมายเลข 102 มาทางทิศใต้ประมาณ 5 เมตร มีลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 6.5 เมตร มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน

                 4.โบราณสถานหมายเลข 104 (เดิมคือหมายเลข 3) เจดีย์บริวาร  อยู่ห่างจากพระธาตุยาคูไปทางทิศใต้ประมาณ 80 เมตร มีลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 11.50 เมตร มีแท่นพระที่ฐาน 3 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และ ทิศใต้ ส่วนทางด้านทิศเหนือทำเป็นประตูเข้า กว้าง 0.60 เมตร เจดีย์องค์นี้มีการซ่อมทับของเดิมไว้เนื่องจากพบลายปูนปั้นที่ติดกับฐานชั้นบนมีอิฐก่อทับไว้ ความสูงของฐานเจดีย์เมื่อขุดแต่งแล้วคือ 3 เมตร โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งปูนปั้นและดินเผา เช่น เศียรพระพุทธรูป เศียรเทวดา เศียรพระโพธิสัตว์ รูปหัวสัตว์และลวดลายต่าง ๆ ซึ่งเป็นศิลปะสมัยทวารวดี

                 5.โบราณสถานหมายเลข 105 เจดีย์บริวาร  จากการไถปรับพื้นที่ระหว่างโบราณสถานหมายเลข 103 กับ 104 ในระหว่างปี พ.ศ. 2539 ตามโครงการขุดแต่งบูรณะเสริมความมั่นคงพระธาตุยาคูและเจดีย์บริวาร ได้พบโบราณสถานหมายเลข 105 ลักษณะเป็นฐานย่อไม้ยี่สิบ กว้าง 4 เมตร สูงประมาณ 0.30 เมตร ก่อด้วยอิฐสมัยทวารวดี

                6.โบราณสถานหมายเลข 106 เจดีย์บริวาร  จากการไถปรับพื้นที่ในปี พ.ศ. 2539 ตามโครงการขุดแต่งบูรณะเสริมความมั่นคงพระธาตุยาคูและเจดีย์บริวาร พบโบราณสถานหมายเลข 106 อยู่ห่างจากโบราณสถานหมายเลข 104 มาทางทิศตะวันตกประมาณ 5.6 เมตร มีลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐสมัยทวารวดี กว้างด้านละ 4.75 เมตร สูงประมาณ 0.55 เมตร ปัจจุบันใช้ทรายกลบไว้

 

          ใบเสมา จำนวน 11 หลัก ทำจากหินทราย ปักล้อมรอบพระธาตุยาคูในตำแหน่งประจำทิศทั้ง 8 ซึ่งใบเสมาทั้ง 11 หลักนี้แต่เดิมพบจากการไถปรับพื้นที่รอบพระธาตุยาคู ซึ่งพบในลักษณะวางนอน หันปลายส่วนยอดของใบเสมาเข้าหาองค์พระธาตุ มีใบเสมาที่สลักลวดลายและสามารถวิเคราะห์เรื่องราวได้ มี 3 ใบ ได้แก่ ใบเสมาสลักภาพมโหสถชาดก ใบเสมาสลักภาพภูริทัตชาดก และใบเสมาสลักภาพเตมียชาดก

  

           สภาพปัจจุบัน หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งได้พบพระธาตุยาคู หรือโบราณสถานหมายเลข 10 เมื่อปีพ.ศ.2510 – 2511 ต่อมาได้ดำเนินการบูรณะเสริมความมั่นคงพระธาตุยาคูในส่วนที่เป็นฐาน 8 เหลี่ยมและตัวองค์พระธาตุ เมื่อปีพ.ศ.2526 และได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบอนุรักษ์โบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อปีงบประมาณ 2534

          สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี ได้ดำเนินการขุดแต่งบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถานพระธาตุยาคูและเจดีย์บริวาร เมื่อพ.ศ.2539

          ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี