ถ้ำภูค่าว
พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนประดิษฐานอยู่ภายใต้เพิงหิน ภายในวัดพุทธนิมิต ซึ่งตั้งอยู่บนภูค่าวเป็นภาพสลักนูนต่ำ สูงขึ้นมาจากแผ่นหิน 15 เซนติเมตร อยู่ใต้เพิงหินที่ยื่นออกมา 2.50 เมตร ซึ่งสามารถป้องกันฝนและกันแดดได้เป็นอย่างดี เบื้องล่างของภาพสลักเป็นแผ่นหินยาว ซึ่งถูกสกัดให้ดูเป็นแท่นสี่เหลี่ยมรองรับพระพุทธไสยาสน์ทำให้ภาพสลักไม่ลอย และเมื่อมารองรับอยู่ภายใต้ภาพสลักที่เป็นรูปพระนอนก็ดูคล้ายเป็นเตียงรองรับ
ภาพสลักรูปพระนอนมีขนาดยาวนับจากปลายพระบาทถึงประภาวลี (รัศมี) 2.09 เมตร ส่วนกว้างที่สุดนับจากช่วงกว้างพระโสณี หรือสะโพก ถึงพระหัตถ์ที่พาดทับอยู่ 54 เซนติเมตร
ภาพสลักแสดงสภาพพระนอนในท่าตะแคงซ้าย ไม่ใช่ตะแคงขวาตามแบบที่เรียกว่า สีหไสยา (ท่านอนดุจดังพญาราชสีห์) อันเป็นท่าเฉพาะเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานตามเรื่องราวในพระไตร ปิฎก พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระพักตร์ค่อนข้างกลม รายละเอียดพระพักตร์ค่อนข้างชัดเจน พระเกศาเรียบไม่มีขมวดพระเกศา เว้นแต่ประภาวลีเป็นวงกลมชัดเจนอยู่รอบพระเศียร แสดงการครองผ้าแบบห่มเฉียงแนบพระองค์ สลักลายเส้นให้เป็นริ้วอุตราสงค์ (จีวรผ้าห่มของสงฆ์) ริ้วชายอันตรวาสก (สบง ผ้านุ่งของสงฆ์) และริ้วสังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่าสงฆ์) ซ้อนทับอยู่บนริ้วชายอุตราสงค์ภาพสลักนูนต่ำรูปพระนอนนี้สร้างแตกต่างจากแบบที่นิยมสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทั่วไป คือองค์พระไม่ได้นอนตะแคงขวาอย่างสีหไสยาตามคัมภีร์ แต่นอนตะแคงซ้าย สันนิษฐานว่าผู้สร้างไม่ได้คำนึงถึงการนอนตะแคงซ้ายหรือขวาเป็นสำคัญ แต่คำนึงถึงทิศทางหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่พระพุทธองค์หันเศียรไปสู่เมื่อครั้งปรินิพพาน
สภาพปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2533 ทางวัดได้ลาดปูนซีเมนต์ทำเป็นแท่นสองระดับเพื่อใช้วางกระถางธูปเทียน ดอกไม้ของศาสนิกชนที่มาสักการบูชา ซึ่งผลกระทบจากการจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธไสยาสน์ทำให้เพิงหินเกิดคราบเขม่าดำและมีรอยสกปรกอย่างเห็นได้ชัด ส่วนองค์พระมีร่องรอยสึกกร่อนบางบริเวณ