ประวัติวัดบ้านยางช้า เอกสารกล่าวว่าสร้างในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ภายในวัดมีโบราณสถานสำคัญ คือสิมที่สร้างในปี พ.ศ.๒๔๗๐-๒๔๗๕ สมัยพระเพ็ง กันยวิมล เป็นเจ้าอาวาส   

           สิมมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นทรงพื้นถิ่นอีสานอิทธิพลศิลปะลาว ตามลักษณะการตกแต่งฐานบัวงอน อาคารก่ออิฐถือปูนตั้งบนฐานสูง ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาด ๔ ห้อง รวมห้องมุขที่มีผนังเตี้ยๆที่ตอนกลางเจาะเป็นช่องทางเข้าตรงกับประตูสิม บานประตูเป็นไม้ เฉพาะวงกบแกะสลักลายก้านขด ผนังด้านข้างมีหน้าต่างห้องละ ๑ บาน ด้านหน้ามุขมีบันไดทางขึ้น ยื่นออกมาจากตัวอาคาร ๓.๔๐ เมตร ราวบันไดประดับปูนปั้นรูปจระเข้กับสิงห์คล้ายกับสิงห์ที่วัดเหลาเทพนิมิต ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน โครงสร้างอาคารใช้เสาและผนังรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาจั่ว ซ้อนชั้นด้านหน้าในส่วนห้องมุข และด้านหลังในส่วนห้องประดิษฐานพระประธาน ต่อหลังคาปีกนกออกมาข้างละ ๘๐ เซนติเมตร คันทวยเป็นแผงสามเหลี่ยมสูงตั้งแต่ส่วนฐานถึงส่วนโครงไม้รับหลังคาปีกนก หลังคามุงสังกะสี สันหลังคาประดับช่อฟ้าไม้แกะสลัก จั่วประดับโหง่ ใบระกา หางหงส์แบบนาคมีปีก รวงผึ้งเป็นไม้แกะสลักลายก้านขด ส่วนหน้าบันเป็นปูนเรียบๆ ตัวอาคารตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมแบบพื้นถิ่นอีสานทั้งภายในและนอกสิม ฝีมือเจ้าอาวาสเพ็ง กันยวิมล ภายในสิมเขียนภาพจิตรกรรมตั้งแต่ส่วนเหนือหน้าต่างขึ้นไป ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนดอกบัวแสดงปางมารวิชัย มีพระสาวกสงฆ์ซ้ายขวา ผนังด้านในโดยรอบเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก เหนือประตูด้านในคงเหลือเพียงภาพทหารยืนถือปืน และต้นไม้ นอกจากนั้นลบเลือนไปแล้ว สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพมารผจญ ผนังด้านนอกเขียนพุทธประวัติ ตั้งแต่ทรงพบเทวทูตทั้งสี่ และเสด็จออกผนวช เหนือประตูเขียนลายก้านขดในกรอบสามเหลี่ยม ตรงมุมด้านล่างเขียนภาพพระมาลัยโปรดสัตว์ในนรก ด้านบนสุดเป็นภาพเจดีย์ เน้นการใช้สีน้ำเงิน สีเหลือง สีเขียว ตัดเส้นสีดำ ลักษณะเช่นเดียวกับภาพจิตรกรรมในสิมวัดราสิยาราม จังหวัดอำนาจเจริญ

          เอกลักษณ์ของสิมวัดบ้านยางช้า คือ การเป็นสิมทรงพื้นถิ่นอีสานในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ และมีความโดดเด่นด้านการเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสาน

           กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดบ้านยางช้า ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๕ เนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๓๓ ตารางวา โดยสิมหลังนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย