เมืองงิ้วเป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำลำเซบก การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะเริ่มแรกอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายสมัยสังคมเกษตรกรรม มีการถลุงโลหะขึ้นใช้เองในชุมชนดังได้พบร่องรอยเตาถลุงบริเวณริมคูน้ำด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และเมื่อเข้าสู่สังคมประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-16 จึงขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์การประมาณ 370 เมตร สูงราว 2 เมตรสภาพทั่วไปเป็นเนินดินค่อนข้างกลม มีการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณวัตถุเช่นเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ส่วนมากเป็นแบบผิวเรียบมีการชุบน้ำโคลนเขียนสีและลายขูดขีดบ้างเล็กน้อย เครื่องประดับสำริด ได้แก่ แหวน กำไล และขี้แร่ ซึ่งเกิดจากการหลอมโลหะ ชุมชนโบราณเมืองงิ้ว ปัจจุบันพบใบเสมากระจายอยู่บนเนินจำนวน4กลุ่ม เป็นเสาสลักจากหินทรายสีขาวใบเสมาศิลาแลง และกลุ่มใบเสมาหินทรายสีชมพูยอดเรียวแหลมสลักเป็นแนวเส้นนูนตรงกลางแผ่นเป็นลวดลายประดับ จากหลักฐานทางโบราณวัตถุจำนวนเล็กน้อยแสดงว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้คงมีขนาดไม่ใหญ่นักและคงจะเป็นศาสนสถานมากกว่าที่จะเป็นที่อยู่อาศัยโดยพิจารณาจากกลุ่มใบเสมาหินทราย จากรูปแบบของเสมานั้นทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มชนกลุ่มนี้คงจะมีความเชื่อในพุทะศาสนา โดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมอญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-16
ชุมชนโบราณบ้านเมืองงิ้ว ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์วัดโนนบึงศิลาราม ตัวอาคารที่สร้างขึ้นใหม่มีศาลาการเปรียญ โรงครัว ศาลาเก็บของ และกุฏิเล็ก ๆ พื้นที่โดยรอบเป็นบำรก พบใบเสมากระจายอยู่บนเนินจำนวน 4 กลุ่ม เป็นเสมาสลักจากหินทรายสีขาว สีชมพู และใบเสมาศิลาแลง ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมทั้งหมด
กลุ่มใบเสมาทางด้านทิศเหนือ ลักษณะเป็นใบเสมาขนาดใหญ่ โดยมากจะมีขนาดสูงประมาณ 2 - 3 เมตร มีทั้งที่วางตั้งและนอนเรียงอยู่บนดิน รวมทั้งสิ้น 17 ใบ รายละเอียดดังนี้
ใบที่ 1 ใบเสมาสลักจากหินทรายสีขาว สภาพล้มนอนอยู่ในพื้นดิน จึงเห็นเฉพาะด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีขนาดใหญ่ คาดว่ามีความสูงไม่ต่ำกว่า 3 เมตร ความกว้าง 103 เซนติเมตร ส่วนบนโค้งแหลมคล้ายกลีบบัว สลักลายสันนูนบริเวณกึ่งกลางใบ ลวดลายด้านล่างไม่ชัดเจนเนื่องจากฝังจมอยู่ในดิน
ใบที่ 2 ใบเสมาสลักจากหินทรายสีขาว ขนาดกว้างประมาณ 90 เซนติเมตร สูง 250 เซนติเมตร สภาพล้มนอนอยู่ในพื้นดิน ที่เดือยมีรอยกะเทาะผิวหน้าร่อนออก ด้านหน้าที่โผล่พ้นดินขึ้นมา มีลายสลักเป็นสันนูนบริเวณกึ่งกลางใบ ที่ส่วนฐานเป็นลายบัวหงายกลีบบัวซ้อนเหลื่อมกันมีเกสรบัวด้านบน ส่วนช่วงล่างเป็นลายลูกประคำอยู่ภายในเส้นลวด 2 เส้น ระหว่างแถวลูกประคำกับลายบัวหงาย คั่นกลางด้วยลายเส้นคดโค้ง
ใบที่ 3 ล้มไปคนละทิศกับเสมา 2 ใบแรก ลักษณะเป็นเสมาขนาดใหญ่ มีความกว้าง 106 เซนติเมตร สูง 3.12 เซนติเมตร เห็นเฉพาะด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีลายสลักเป็นสันนูนบริเวณกึ่งกลางใบ ส่วนฐานเป็นลายบัวคว่ำ-บัวหงาย บัวหงายมีกลีบซ้อนเหลื่อมกัน 3 ชั้น มีเกสรโผล่พื้นกลีบดอกขึ้นมา บัวคว่ำกลีบซ้อนกัน 2 ชั้น ลักษณะหงายกลีบออกเห็นเพียงส่วนปลายกลีบที่ผงกตั้งขึ้นเท่านั้น
ใบที่ 4 ใบเสมาหินทราย ช่วงไหล่ค่อนข้างตรง ส่วนยอดนูนแหลมขึ้นมาเล็กน้อย มีขนาดกว้าง 108 เซนติเมตร หนา 22 เซนติเมตร สลักลายสันนูนบริเวณกึ่งกลางใบ ทั้ง 2 ด้าน วางตั้งอยู่บนพื้นดิน สูงเหนือพื้นขึ้นมา 139 เซนติเมตร
ใบที่ 5 ใบเสมาหินรายสีชมพู ด้านบนโค้งแหลมคล้ายกลีบบัว บริเวณกึ่งกลางใบสลักเป็นสันนูนขึ้นมาทั้ง 2 ด้าน มีขนาดกว้าง 78 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร ปักอยู่พื้นดิน สูงเหนือขึ้นมา 90 เซนติเมตร
ใบที่ 6 ใบเสมาหินทราย รูปทรงส่วนบนคล้ายกลีบบัว ช่วงไหล่โค้งมน ส่วนยอดนูนแหลมขึ้นมาเล็กน้อย บริเวณกึ่งกลางใบสลักเป็นสันนูนขึ้นมาทั้ง 2 ด้าน ปักอยู่บนพื้นดิน
ใบที่ 7,8,9 เป็นชิ้นส่วนของใบเสมาที่หักเป็นท่อน มีทั้งส่วนยอด และส่วนกลางใบ ทุกชิ้นสลักลายสันโนนบริเวณกึ่งกลางใบ
ใบที่ 10 ใบเสมาหินทราย รูปทรงส่วนบนคล้ายกลีบบัว มีขนาดกว้าง 77 เซนติเมตร ปักอยู่บนพื้นดิน สูงเหนือพื้นขึ้นมา 86 เซนติเมตร
ใบที่ 11 ใบเสมาหินทราย สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนกลางใบ มีความกว้าง 75 เซนติเมตร หนา 13 เซนติเมตร สูงเหนือพื้นดินขึ้นมา 22 เซนติเมตร
ใบที่ 12 ใบเสมาหินทราย รูปทรงส่วนบนคล้ายกลีบบัว ส่วนไหล่โค้งลงเล็กน้อย มีลายสลักทั้ง 2 ด้าน เป็นลายสันนูนบริเวณกึ่งกลางใบ ใบเสมามีขนาดกว้าง 95 เซนติเมตร หนา 20 เซนติเมตร สูงเหนือพื้นดินขึ้นมา 96 เซนติเมตร
ใบที่ 13 ใบเสมาหินทราย มีขนาดเล็ก รูปทรงด้านบนคล้ายกลีบบัว ปลายโค้งมน มีลายสลักทั้ง 2 ด้าน เป็นลายสันนูนบริเวณกึ่งกลางใบ
ใบที่ 14 ใบเสมาหินทรายสีชมพู รูปทรงส่วนบนคล้ายกลีบบัว ปลายเรียวแหลม มีลวดลายสลักเป็นหม้อปูรณฆฏะที่มีส่วนยอดเป็นรูปกรวยแหลมคล้ายยอดสถูปทั้ง 2 ด้าน ต่างกันที่ลายละเอียดเพียงเล็กน้อย บริเวณส่วนยอดของสถูปที่ด้านหนึ่งมีปล้องไฉนคั่นกลาง ใบเสมามีความกว้าง 75 เซนติเมตร หนา 20 เซนติเมตร ปักอยู่บนพื้นดินสูงเหนือพื้นขึ้นมา 89 เซนติเมตร
ใบที่ 15 ชิ้นส่วนฐานใบเสมา สลักลายลูกประคำอยู่ภายในแถบเส้นขนาน 2 เส้น ส่วนเดือยจมอยู่ในพื้นดิน
ใบที่ 16 ใบเสมาหินทราย รูปทรงด้านบนคล้ายกลีบบัวปลายเรียวแหลม มีความกว้าง 69 เซนติเมตร หนา 19 เซนติเมตร ท่อนล่างของใบเสมาจมอยู่ในดิน ส่วนยอดสูงเหนือพื้นขึ้นมา 85 เซนติเมตร บริเวณกึ่งกลางแผ่นมีลวดลายสลักทั้ง 2 ด้าน ลายช่วงบนที่พ้นดินขึ้นมาด้านหนึ่ง เป็นลายยอดสถูปซึ่งเทินธรรมจักรและหม้อน้ำปูรณฆฏะไว้ด้านบน อีกด้านลวดลายคล้ายกันแต่ไม่มีธรรมจักร คือ เป็นลายยอดสถูปที่มีหม้อปูรณฆฏะคั่นแบ่งยอดสถูปออกเป็น 2 ช่วง ที่ปากหม้อเป็นลายบัวกลีบยาว
ใบที่ 17 อยู่ด้านหลังศาลาประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม ใบเสมายังฝังจมอยู่ในดิน เห็นเพียงร่องรอยบางส่วนที่โผล่ขึ้นมาเท่านั้น
กลุ่มใบเสมาทางด้านทิศใต้ เป็นใบเสมาหินกึ่งกลางใบสลักเป็นสันนูนแหลมแทนส่วนยอดของสถูป
กลุ่มใบเสมาทางด้านทิศตะวันตก เป็นเสมาศิลาแลงทรงสี่เหลี่ยมตลอดถึงส่วนบนซึ่งโค้งมนปลายยอดนูนเล็กน้อย บริเวณกึ่งกลางใบเป็นสันนูนสัญลักษณ์แทนส่วนยอดของสถูป
กลุ่มใบเสมาศิลาแลง ที่ขนย้ายมากองรวมกับหินทรายบริเวณด้านข้างของศาลาการเปรียญ อยู่กลางเนินดินชุมชนโบราณ เสมาเหล่านี้รูปทรงไม่ชัดเจน ส่วนกึ่งกลางใบสลักลายสันนูน
ใบเสมาเหล่านี้มีลวดลายสลักเป็นรูปสถูป และดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา รูปแบบขององค์สถูปคล้ายกับหม้อน้ำปูรณฆฏะ พบมากในวัฒนธรรมทวารวดีตอนต้น ๆ ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 15 ดังลวดลายองค์สถูปที่ปรากฏในพระพิมพ์พบที่โบราณสถานเมืองยะรัง จ.ปัตตานี เป็นต้น
สภาพปัจจุบัน เป็นสำนักสงฆ์วัดโนนบึงศิลาราม