ปราสาทสด๊กก๊อกธม
ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหญ้าแก้ว หมู่ที่ ๙ ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากชายแดนของประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่แผนผังและพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดสระแก้ว
ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหญ้าแก้ว หมู่ที่ ๙ ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากชายแดนของประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่แผนผังและพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดสระแก้ว
ชื่อเรียกปราสาทแห่งนี้เปลี่ยนแปลงชื่อไปตามสภาพแวดล้อมทางกายภาพของลำดับเวลา กล่าวคือ ในพุทธศักราช ๒๔๖๓ เรียกว่า “ปราสาทเมืองพร้าว” ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๗๘ เรียกว่า“ปราสาทสล๊อกก๊อกธม” ปัจจุบันเรียกว่า “ปราสาทสด๊กก๊อกธม”
คำว่า“สด๊กก๊อกธม”เป็นภาษาเขมร คำว่า“สด๊ก”มาจากคำว่า“สด๊อก”แปลว่า รก ทึบ คำว่า“ก๊อก”แปลว่า ต้นกก และคำว่า “ธม” แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น“สด๊กก๊อกธม”จึงแปลว่า รกไปด้วยต้นกกขนาดใหญ่
ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๕๙๕ ตามพระบัญชาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ กษัตริย์เขมร โดยมีพระประสงค์เพื่อประทานแด่ “ศรีชเยนทรวรมัน” นามเดิมว่า “สทาศิวะ” พระราชครูที่ลาสิกขาจากสมณเพศ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระชามาดาของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พระราชบิดาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ) และเป็นผู้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถวายพระองค์
ปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ตามคติความเชื่อเรื่องเทวราชจารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ๒ กล่าวถึง การสถาปนาศิวลึงค์ ๒ องค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะหรือพระอิศวรเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู จากการดำเนินงานโบราณคดีบริเวณปราสาทประธานพบชิ้นส่วนฐานโยนีที่ประดิษฐานศิวลึงค์ และร่องรอยของท่อโสมสูตรต่อออกมาภายนอกปราสาท สอดคล้องกับจารึกที่กล่าวถึง การสถาปนาศิวลึงค์ ณ ปราสาทแห่งนี้
หลักฐานสำคัญ/จารึกสด๊กก๊อกธม ๒
พบราวพุทธศักราช ๒๔๕๔ โดยนายลูเนต์ เดอ ลายองกิแยร์ (Lunet de Lajonquière) บริเวณมุม ปราสาทประธานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๖๓ ร้อยตำรวจเอกหลวงชาญนิคม พบที่ ด้านทิศเหนือของปราสาทประธาน แม้ว่าตำแหน่งที่พบจะคลาดเคลื่อนกัน แต่ข้อมูลดังกล่าวได้แสดงการพบจารึกหลักนี้ที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม
จารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ทำด้วยหินชนวนเป็นรูปสี่เหลี่ยมทั้ง ๔ ด้าน จารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร ด้านที่ ๑ มี ๖๐ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๗๗ บรรทัด ด้านที่ ๓ มี ๘๔ บรรทัด และด้านที่ ๔ มี ๑๑๙ บรรทัด สร้างขึ้นในพุทธศักราช ๑๕๙๕ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานแห่งภัทรปัตนะซึ่งเคยถูกทำลายลงในช่วงสงคราม กลางเมืองสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ตามคำกราบบังคมทูลขอของพราหมณ์สทาศิวะ หรือชเยนทรวรมัน โดยพระองค์ทรงสถาปนาศาสนสถานแห่งนี้ นามใหม่ว่า ภัทรนิเกตน (ที่อยู่อาศัยที่ดี) แด่พราหมณ์สทาศิวะ ซึ่งเป็นพระราชครู พร้อมทั้งได้สถาปนาศิวลึงค์ อีกทั้งกัลปนาข้าทาสประจำศาสนาสถาน
เนื้อหาในจารึกมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากได้บันทึกเรื่องราวประวัติตระกูลพราหมณ์ และรายพระนามกษัตริย์เขมรโบราณ ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ พุทธศักราช ๑๓๔๕ ถึงรัชกาลพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ (ครองราชย์ ๑๕๙๓ - ๑๖๐๙ ) พุทธศักราช ๑๕๙๕ รวมเวลา ๒๕๐ ปี ได้แสดงถึงสภาพสังคมวัฒนธรรม พิธีกรรม และการนับถือศาสนาในช่วงเวลานั้น จึงเป็นหลักฐานชั้นต้นที่มีคุณค่ายอดเยี่ยม ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเขมรโบราณ
แผนผัง
แผนผังปราสาทสด๊กก๊อกธม ประกอบด้วย ปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลาง หันหน้าด้านทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยระเบียงคด และกำแพงแก้ว ด้านหน้ามีทางดำเนินทอดยาวเป็นแกนเชื่อมระหว่างบริเวณปราสาทกับบาราย ลักษณะดังกล่าวน่าจะเริ่มขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เช่น แผนผังปราสาทพระโค ราชอาณาจักรกัมพูชา
แผนผังและภาพมุมสูงปราสาทสด๊กก๊อกธม
แผนผังแบบนี้ได้รับความนิยมมากในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยพบทั้งในราชอาณาจักรกัมพูชา และประเทศไทย เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น
ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรม
ปราสาทสด๊กก๊อกธม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมร ประกอบด้วยอาคารสำคัญ คือ ปราสาทประธาน บรรณาลัย ๒ หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดและกำแพงแก้ว อาคารทั้งหมดก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง ซึ่งตกแต่งพื้นผิวในพื้นที่สำคัญด้วยการแกะสลักลวดลายลงบนเนื้อหินเป็นภาพเล่าเรื่องราวในศาสนาพราหมณ์ฮินดูและพฤกษานานาพันธุ์ เทียบเคียงได้กับศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรโบราณ แบบคลังผสมกับบาปวน กำหนดอายุได้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖
ภาพลายเส้นหน้าบันรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์และทับหลังรูปบุคคล
หน้าบันสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์
ทับหลังสลักภาพบุคคลประทับนั่งในท่ามหาราชลีลา กึ่งกลางท่อนพวงมาลัย
ประวัติการอนุรักษ์/ปกป้อง/คุ้มครอง
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๗๘ และกำหนดเขตพื้นที่โบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๐ รวมพื้นที่โบราณสถาน ๖๔๑ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา
พุทธศักราช ๒๕๓๖ กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้สำรวจรายละเอียด ของโบราณสถาน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๙ - ๒๕๕๓ ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๙ - ๒๕๕๓ ดำเนินงานโบราณคดีและบูรณะปราสาทด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) แล้วเสร็จ โดยในปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถาน