ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง 1345-1393) ได้รวบรวมอาณาจักรเจนละบก และเจนละน้ำรวมกันในนามกัมพุช ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของยุคพระนครพร้อมกับการฟื้นตัวของศาสนาพราหมณ์ และการขยายตัวของพุทธศาสนาแบบทวารวดี (ระหว่าง พ.ศ.1420-1432) ในสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่1 อาณาจักรกัมพุชเริ่มขยายอำนาจทางการเมืองเข้ามายังเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีของวัฒนธรรมเขมร สมัยเมืองพระนครบริเวณที่ราบสูงโคราชอย่างแพร่หลายนั้น แสดงถึงความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างชุมชนทั้งสอง
ปราสาทบ้านเบญจ์เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเบญจ์ ตำบลหนองอ้ม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะปราสาทเป็นศาสนสถานศิลปะเขมรโบราณ ประกอบด้วยปราสาทก่อด้วยอิฐ 3 หลัง เรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งบนฐานศิลาแลง มีทางเข้าเพียงด้านเดียว องค์ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงศิลาแลง โดยมักจะใช้ประดิษฐานเทพเจ้าตรีมูรติ เนื่องจากเป็น ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ตรงประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกปรากฏร่องรอยฐานศาลาจตุรมุขและซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระ นอกจากส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ก่อด้วยอิฐแล้ว ยังมีเสาประดับกรอบประตูสลักจากหินทรายทับหลังสลักจากหินทรายพบบริเวณตัวปราสาทซึ่งโกลนเป็นลวดลายท่อนพวงมาลัยมีแนวอุบะชั้นกลางเช่นเดียวกับทับหลังศิลปะเขมรแบบคลังหรือเกลียง อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 16 และทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งปราสาทหลังนี้เมื่อ พ.ศ.2533 พบทับหลังเทพนพเคราะห์ที่สมบูรณ์มาก และปัจจุบันได้จัดแสดงพร้อมกัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
แผนที่
ภาพถ่ายทางอากาศ
นอกจากนี้ภาพถ่ายทางอากาศยังแสดงถึงร่องรอยของชุมชนโบราณในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี ตามวัฒนธรรมเขมรยุคพระนคร เช่น การสร้างบาราย แนวคูน้ำคันดิน การค้นพบหลักฐานโบราณสถาน และโบราณวัตถุในยุคร่วมวัฒนธรรมเขมรสมัยพระนครแสดงว่าพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง
อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรสมัยเมืองพระนครคงจะสิ้นสุดลงพร้อมกับรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการต่างๆ ของชุมชนในเขตจังหวัดอุบลราชธานีเริ่มลดน้อยลงและหายไปในที่สุด จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 23 จึงเริ่มปรากฏหลักฐานการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนไทย-ลาว เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่พร้อมๆกับการเริ่มต้นของวัฒนธรรมไทย-ลาว ที่ดำรงมาจนถึงทุกวันนี้
ปราสาททองหลาง
บ้านท่าโพธิ์ศรี ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
ด้านทิศตะวันตก
ปราสาททองหลาง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองอ้ม ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะเป็นปราสาทอิฐ 3 หลัง ตั้งเรียงแถวอยู่บนฐานเดียวกัน สภาพก่อนบูรณะชำรุดพังทลายลงมามาก ทั้งจากการพังทลายตามธรรมชาติและจากการถูกลักลอบขุดหาของมีค่า โดยปรากฏหลุมและร่องรอยการลักลอบขุดอยู่ทั่วไปทั้งในองค์ประสาท และบริเวณรอบ ๆ ฐาน มีเศษอิฐและดินตกอยู่ที่บริเวณฐานปกคลุมตัวปราสาททั้งสามหลังอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะหลังทางด้านทิศเหนือที่ส่วนหลังคาพังลงมาจนหมดเหลือเพียงส่วนเรือนธาตุ บริเวณรอบปราสาทมีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบ มีบารายขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของปราสาทด้วย
ลักษณะสถาปัตยกรรม ปราสาททองหลางเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยปราสาททั้ง 3 หลัง มีขนาดไม่เท่ากัน ปราสาทหลังกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าปราสาท 2 หลัง ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และมีทางเข้าปราสาทอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเช่นเดียวกันกัน ปราสาทหลังนี้ใช้อิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ใช้ศิลาแลงก่อเป็นฐานยกขึ้นมาจากฐานรวม โดยก่ออิฐตั้งแต่ฐานขึ้นไปจนถึงชั้นหลังคา กรอบประตูทางเข้าทำจากหินทราย ผนังอีก 3 ด้านก่อด้วยอิฐเป็นประตูหลอก
ลักษณะแผนผัง อาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเพิ่มมุม โดยก่อมุขสั้นๆ เป็นประตูหลอกและเสาประดับผนังยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ที่ฐานและโคนเสารองรับปลายซุ้มหน้าบันทำเป็นบัวคว่ำ และสลักอิฐเป็นลวดลายลวดบัวเช่นเดียวกับเรือนธาตุส่วนบนที่ทำเป็นลายบัวคว่ำ บริเวณหน้าบันก่อเป็นอิฐพื้นเรียบ สลักลายเป็นกรอบหน้าบัน ยังเห็นลายสลักได้ชัดเจนที่หน้าบันด้านทิศใต้และเหนือ โดยสลักเป็นปลายซุ้มสลักรูปสามเหลี่ยม สลักลายเส้นลวดบัวคั่นระหว่างส่วนทับหลังและหน้าบัน ส่วนหน้าบันทางด้านทิศตะวันออกพังทลายลงมามาก แต่ก็ยังคงพอเห็นลายเส้นสลักบนแผ่นอิฐอยู่ โดยสลักเป็นลายกรอบหน้าบันเส้นกรอบประดับด้วยใบระกา ส่วนหน้าบันสลักเป็นลายกลีบบัวห้ากลีบ เหมือนหน้าบันด้านทิศใต้
ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
ด้านนอกรอบตัวปราสาทมีร่องรอยของคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปเกือกม้า มีทางเข้าปราสาทอยู่ด้านทิศตะวันออก สำหรับคูน้ำกว้างประมาณ 20 เมตร ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงฤดูฝน และยังมีสระน้ำที่น่าจะเป็นสระน้ำของปราสาทธาตุทองหลาง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างออกไปประมาณ 20 เมตร มีขนาด กว้าง 60 เมตร ยาว 100 เมตร
ขุดลอกคูน้ำด้านทิศตะวันออกซีกด้านทิศเหนือ
ทางด้านตะวันออกถัดจากคูน้ำออกไปประมาณ 170 เมตร มีบารายขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นที่เก็บกักน้ำสำหรับชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับปราสาททองหลาง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 430 เมตร ยาว 455 เมตร มีความสูงประมาณ 2 เมตร เคยถูกบุกรุกเป็นนาข้าวจนตื้นเขินและตามขอบบารายมีราษฎรเข้ามาตั้งบ้านเรือน ทำแปลงผัก ขุดบ่อน้ำ และใช้ขอบบารายด้านทิศใต้เป็นถนนเข้าสู่ตัวปราสาท
จากลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สันนิษฐานได้ว่าปราสาททองหลางมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เทียบได้กับศิลปะเขมร แบบบาปวน (พ.ศ. 1550-1620)
ปราสาททองหลาง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479 หน้าที่ 1526 – 1535 ประกาศขอบเขตในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 99 ตอนที่ 155 หน้า 33 (ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2525 มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา
พื้นที่ด้านทิศตะวันออก ซึกด้านทิศใต้