วัดราสิยาราม
         ตั้งอยู่ที่บ้านไก่คำ ตำบลไก่คำ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ  

          วัดราสิยารามตั้งอยู่ที่บ้านไก่คำ ตำบลไก่คำ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ  เป็นชุมชนที่ประชาชนย้ายถิ่นฐานมาจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

          อุโบสถวัดราสิยาราม เป็นอุโบสถ (สิม) ขนาดเล็ก จากคำบอกเล่าว่า นายลา ได้บริจาคที่ดิน จำนวน 12 ไร่ เพื่อสร้างเป็นสถานที่สร้างวัด ต่อมานายลาและนายลิน ซึ่งเป็นพี่น้องกันได้อุปสมบทประจำอยู่ที่วัด จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดราสิยาราม” และมีการจารึกไว้ว่า เจ้าคณะแขวง และอุปัชฌาพันเป็นผู้ชี้แจง ผู้เป็นหัวหน้าคือ ยาครูแดง ยาครูไตร  พระสงฆ์และสามเณร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรพร้อมใจกันสร้างปฏิสังขรขึ้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2471

          อุโบสถ (สิม) เป็นอาคารขนาดเล็กก่อด้วยอิฐถือปูน ที่ผนังกำแพงมีเสาไม้ด้านละ 4 ต้น รองรับส่วนหลังคา ที่ขื่อห้องแรกสลักลายรูปพญานาคเกี้ยวพันกัน ห้องที่สองสลักลายเถาวัลย์พันกัน ผนังภายในฉาบปูนเรียบ ภายในมีพระพุทธรูป 3 องค์ องค์กลางเป็นพระประธาน ผนังด้านหน้าภายนอกเขียนภาพจิตรกรรมระดับเหนือประตู 4 เรื่อง บนสุดเขียนเป็นภาพพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ด้านล่างเขียนภาพพระพุทธเจ้าตอนมารผจญ ด้านล่างทางซ้ายมือเขียนภาพเรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ขวามือเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก อาคารอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ หลังคามุงด้วยสังกะสี เชิงชายมีร่องรอยของการแกะสลักเป็นลายหยักโค้ง คงได้รับการบูรณะมานานอุโบสถจึงไม่มีคันทวย จั่วมีลายประดับแถวบนแบ่งเป็น 3 ช่อง ประดับลายรูปพระอาทิตย์อัศดงคต 3 ดวง แถวกลางและแถวล่างสลักลายเส้นพื้นลายลูกฟักปลายแหลม ครีบใต้จั่วไปลายฉลุไม้โค้งลงไปจรดปลายเสา

         วัดพันธุเวสน์ 
         หมู่ 4 79 ตำบล บุ่ง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำนาจเจริญ 37000

         

          วัดพันธุเวสน์ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2435 โดยหลวงพ่อพันธ์ หลังจากที่บวชเป็นพระภิกษุและไปศึกษาพระธรรมที่หลวงพระบาง ประเทศลาว เป็นเวลาถึง 15 ปี และมีเจ้าอาวาสสืบต่อมาจนปัจจุบัน เท่าที่ทราบนามได้แก่  รูปที่ 1 พระพันธ์ รูปที่ 2 พระปา มหาปญฺโญ รูปที่ 3 พระน้อย สิริจนฺโท  รูปที่ 4 รูปที่ 5 พระลอง รูปที่ 6 พระสถัด ขนฺติโก รูปที่ 7 เจ้าอธิการผดุง ฐิตธมฺโม รูปที่ 8 พระครูสุตวัฒนคุณ วัดพันธุเวสน์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 สังกัดคณะสงฆ์นิกาย อาคารเสนาสนะประกอบด้วยกุฏิสงฆ์จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารไม้ 5 หลังและตึก 1 หลัง นับเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ 

         ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดพันธุเวสน์

          1.อุโบสถเก่า (สิมเก่า) 

ภาพแสดงบริเวณด้านข้างของอุโบสถ(สิม)เก่า

             มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3 ห้อง วางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก  โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 4.90 เมตร ยาว 9.40 เมตร ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบช่างญวนจากประเทศลาว โดยส่วนฐานเป็นชุดบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชุด ซึ่งฐานส่วนล่างจมอยู่ใต้ดิน รองรับฐานเขียง 1 ชั้น เหนือฐานเขียงเป็นบัวคว่ำ โดยเจาะเป็นช่องประทีปแบบวงโค้งโดยรอบอาคาร ตัวอาคารมีระเบียงด้านหน้า แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเสา โดยเสาแต่ละต้นปั้นปูนเป็นบัวที่หัวเสารองรับวงโค้งที่ทำเป็นหยักตามแนวของวงโค้ง ราวระเบียงทั้งด้านหน้าและด้านข้างก่อเป็นผนังทึบ เจาะเป็นช่องประทีปแบบวงโค้งที่ด้านข้างเป็นแถวเรียงต่อเนื่อง มีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงช่วงเสากลาง กว้างประมาณ 2.60 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร ราวบันไดทั้งสองข้างทำเป็นรูปสัตว์หิมพานต์แบบศิลปะลาว มีประตูทางเข้าช่องเดียว บานประตูไม้แบบ 2 บานเปิดเข้า ส่วนด้านใน ผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน เจาะเป็นช่องหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ปัจจุบันปิดตายด้วยแผ่นสังกะสี ผนังด้านหลังก่อปิดทึบตลอดทั้งด้าน ส่วนเครื่องหลังคาไม้ทำเป็นทรงจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น มุงด้วยสังกะสี ด้านหน้าก็ปิดทับด้วยสังกะสีเช่นกัน ภายในอาคารมีแท่นฐานชุกชีอยู่ติดกับผนังด้านหลังแต่ไม่มีพระประธานประดิษฐานไว้ มีเพียงพระพุทธรูปไม้ 2 องค์ ตั้งอยู่ภายใน

ภาพแสดงบันไดของอุโบสถ(สิม)เก่า ทำเป็นรูปนาคเฝ้าประตู บันไดจะผายออกเป็นการสร้างโดยได้อิทธิของช่างญวนจากประเทศลาว

ภาพแสดงแท่นฐานชุกชีภายในของอุโบสถ(สิม)เก่า

 

           2.วิหารน้อยหรือหอพระ

ภาพแสดงบริเวณด้านขวาของวิหารน้อยหรือหอพระ

             มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 3 ห้อง วางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 3.9 เมตร ยาว 7.5 เมตร ส่วนฐานเป็นชุดบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชุด โดยฐานส่วนล่างฝังจมอยู่ใต้ดิน ถัดจากชุดฐานเป็นตัวอาคาร โดยส่วนหน้าทำเป็นระเบียงแต่มีลักษณะเป็นห้อง มีช่องประตูทางเข้ากึ่งกลางด้านหน้า ด้วยการก่ออิฐเป็นซุ้มแบบซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปเป็นยอกแหลม มีช่องหน้าต่างก่ออิฐในลักษณะเดียวกันทั้ง 2 ข้างของช่องประตู รวมทั้งผนังส่วนระเบียงทั้ง 2 ด้านด้วย ผนังด้านข้างอาคารทั้ง 2 ข้าง เจาะเป็นช่องหน้าต่างเพียง 2 ห้องแรก ส่วนห้องที่ 3 ก่อผนังปิดทึบไม่มีหน้าต่าง รวมทั้งผนังด้านหลังก็เช่นเดียวกัน ช่องหน้าต่างก่ออิฐแบบซ้อนเหลื่อมกันเช่นเดียวกับช่องบันไดทางขึ้นและช่องหน้าต่างระเบียง ภายในอาคารปูกระเบื้องดินเผาเคลือบสีน้ำตาลเทาลายเรขาคณิต ฐานชุกชีก่อเป็นแท่นสี่เหลี่ยมยกพื้นสูงยาวติดตลอดแนวผนังด้านหลัง ประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ พุทธศิลปะแบบลาว (พื้นถิ่นอีสาน) ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่วมุงด้วยสังกะสี

ภาพแสดงภายในวิหารน้อยหรือหอพระ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยพุทธศิลปะแบบลาว