เจดีย์วัดสิงห์ท่า
บ้านสิงห์ท่า ตำในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
เจดีย์บ้านสิงห์ท่า ตั้งอยู่ในเขตบ้านสิงห์ท่า ตำในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 131 ง ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2545
เจดีย์องค์นี้เป็นหลักฐานที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางด้านศิลปกรรม และการเมืองการปกครอง ของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากรูปแบบของเจดีย์มีลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะรัตนโกสินทร์และศิลปะลาวอันเป็นศิลปกรรมพื้นถิ่น โดยเฉพาะการย่อมุมไม้สิบสอง และการใช้บัวกลุ่มแทนชั้นมาลัยเถา ซึ่งเป็นที่นิยมกันในศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนชั้นฐานแม้จะมีลักษณะเป็นฐานปัทม์ แต่ก็มีรูปแบบเป็นฐานปัทม์ศิลปะลาวแบบที่เรียกว่า “แอวขัน” ปรากฏร่วมอยู่ด้วย เจดีย์องค์นี้จึงนับเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน
รูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดสิงห์ท่าเป็นเจดีย์ทรงจอมแหย่อมุมไม้ 12 ก่ออิฐถือปูน มีขนาดความกว้าง 12 เมตร ยาว 12 เมตร สูง 12 เมตร พบหลักฐานว่ามีการก่อสร้างสองสมัยด้วยกัน
สมัยแรก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ฐานสูง แต่บริเวณฐานชั้นล่างนี้ถูกก่อทับด้วยสมัยที่ 2 จึงไม่เห็นรูปทรงที่ชัดเจน ส่วนชั้นถัดขึ้นไปก่ออิฐถือปูนย่อไม้ 12 มีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร ชั้นบัวปากระฆังย่อมุมต่อขึ้นไปรับกับบัลลังก์ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มลดหลั่นกัน 7 ชั้น
สมัยที่สอง ก่อพอกทับฐานปัจจุบัน เหลือหลักฐานที่เป็นบัวคว่ำบัวหงาย 2 ชั้น อยู่เพียงเล็กน้อยด้านทิศเหนือ การต่อเติมเจดีย์สมัยหลังนี้น่าจะเกิดจากการทรุดตัวขององค์เจดีย์สมัยแรก เพราะแนวอิฐที่ก่อเพิ่มนั้นไปประสานกับฐานเดิม
ธาตุตาดทอง
บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร