วัดโพธิ์ชัย
          ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหนาว ตำบลหนองบัว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

 

          วัดโพธิ์ชัยตั้งอยู่ที่บ้านหนองหนาว ตำบลหนองบัว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ภายในมีโบราณสถานสำคัญ คือ อุโบสถ (สิม) และอาคารปริยัติธรรมหลังเก่า ซึ่งเป็นอาคารทรงยุโรป สะท้อนอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกซึ่งเป็นแบบที่นิยมใช้กันทั่วไปในพื้นที่สองฟากแม่น้ำโขงในช่วง 60-100 ปีมาแล้ว

          อุโบสถ (สิม) สร้างเมื่อ พ.ศ.2456 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าผนังทึบทั้ง 4 ด้าน วางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก และหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีบันไดทางขึ้นผายออกทำราวบันไดเป็นพญานาคทั้ง 2 ข้าง  ส่วนฐานเป็นชุดฐานบัวงอนลูกแก้วอกไก่ ประตูอุโบสถทำด้วยไม้ 2 บาน  เหนือกรอบประตูมีป้ายข้อความระบุ “สร้างเมื่อ พ.ศ.2456 บูรณะครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2551” เหนือขึ้นไปทำเป็นซุ้มปีกกาเชื่อมระหว่างช่วงเสา ส่วนหน้าบันทำเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นนูนต่ำประทับนั่งขัดสมาธิพนมมือบนดอกบัว ทามกลางรูปนาคเกี้ยว หัวเสาทำเป็นกลีบบัวแวง ทาด้วยสีทอง ผนังด้านข้างอุโบสถแบ่งเป็น 3 ช่วงเสา โดยช่วงเสาที่ 1 และ 3 ทำเป็นช่องแสงจำนวน 3 ช่อง เหนือช่องแสงทำเป็นซุ้มปีกกาเชื่อมระหว่างช่วงเสา ส่วนช่วงเสาที่ 2 ทำเป็นช่องหน้าต่างไม้ เหนือกรอบหน้าต่างทำเป็นซุ้มปีกกาเชื่อมระหว่างช่วงเสา เสาทุกต้นมีคันทวยรูปนาครองรับแปหัวเสา ส่วนหน้าบันด้านหลังทำรูปปูนปั้นนูนต่ำรูปอมนุษย์คายนาคเทินเรือบรรทุกต้นไม้ทอง ด้านซ้ายและด้านขวาทำเป็นรูปนาคเกี้ยวทาด้วยสีทอง หัวเสาทั้งสองมุมทำบัวแวงทาสีทอง ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงแป้นเกล็ดไม้ มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แบบภาคกลางประดับ

          อาคารปริยัติธรรม (หลังเก่า) เป็นอาคารทรงยุโรปมีลักษณะเป็นทรงแปดเหลี่ยมใต้ถุนสูง วางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก มีบันไดทางขึ้น 2 ด้าน คือมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนประตูทางขึ้นชั้นบนชำรุดทั้ง 2 ด้าน สันนิษฐานว่าเป็นไม้ ปัจจุบันได้มีการนำออกไปแล้ว เหนือกรอบประตูด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีข้อความระบุ “เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2493” ผนังอาคารด้านหน้าแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเสา แต่ละช่วงเสาเจาะเป็นช่องโค้งและมีราวระเบียง ภายในอาคารแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ส่วน พื้นอาคารปูด้วยไม้กระดาน หัวเสาทำเป็นบัวแวงทาสีน้ำเงินสลับสีน้ำตาล ตัวอาคารทาสีเหลือง ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงปั้นหยา ปัจจุบันมุงสังกะสี

        วัดศรีมุณฑา 

         ตั้งอยู่ที่ บ้านคำฮี ตำบลโพนทราย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร


รูปด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

         วัดศรีมุณฑา ตั้งอยู่ที่ บ้านคำฮี ตำบลโพนทราย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2461 โดยชาวบ้านคำฮีเป็นผู้สร้าง ซึ่งเป็นชาวข่าผสมลาวที่อพยพมาจากประเทศลาว ข้ามมาตั้งบ้านเรือนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ต่อมาภายหลังได้มีการอพยพย้ายมาอยู่ที่บ้านคำฮีได้ร่วมกันตัดไม้บนเขาและชักลากลงมาเป็นเสาศาลา และสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ ศาลาการเปรียญ (หอแจก)

          ศาลาการเปรียญ (หอแจก) ก่อนบูรณะสภาพโดยรวมชำรุดทรุดโทรมมาก การบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ (หอแจก) ที่ผ่านมาจากคำบอกเล่าของพระอธิการสุเทพ อภิญาโณ (เจ้าอาวาสวัดศรีมณฑา) ทราบว่าใน พ.ศ. 2528 ชาวบ้านได้ช่วยกันทำบันไดคอนกรีตขึ้นมาแทนบันไดไม้ทั้ง 3 ด้าน เนื่องจากบันไดไม้เกิดชำรุดผุพัง จนกระทั่ง พ.ศ. 2558 กรมศิลปากร โดย สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานีได้จัดสรรงบประมาณมาเพื่อทำการบูรณะ


แสดงช่อฟ้าด้านทิศเหนือ

          ลักษณะเป็นศาลาการเปรียญ เป็นศาลาโถงไม้ขนาดใหญ่ใต้ถุนเตี้ยทรงจัตุรมุข มีบันไดก่ออิฐถือปูนขึ้น 3 ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ ส่วนทิศตะวันออกกั้นผนังด้วยไม้ฝากระดาน ทำช่องหน้าต่างทุกห้อง ภายในศาลาเป็นโถงโล่งไม่มีราวระเบียง มุขด้านทิศตะวันออกยกพื้นสูงประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นประธาน หัวเสาทุกต้นสลักลายบัวคว่ำบัวหงาย ช่องลมใช้ไม้ระแนงทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ไม้เชิงชายสลักลาย หลังคาทรงจั่วซ้อนชั้นมุงกระเบื้องดินเผา มีเครื่องประดับหลังคาทั้งช่อฟ้ารูปสถูปแหลมที่กึ่งกลางหลังคา โหง่ว (หัวหงส์หรือช่อฟ้าแบบภาคกลาง) ใบระกา หางหงส์ เสาเป็นไม้ขนาดใหญ่ จำนวน 52 ต้น ลักษณะเด่นที่สำคัญคือ หลังคาเป็นเครื่องไม้ประกอบกับลักษณะการเข้าเดือยทั้งหมด ศาลาโรงธรรมออกแบบตามศิลปะไทยใหญ่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศพม่า

โหง่ว ใบระกา หางหงส์

ไม้เชิงชายฉลุลาย ด้านทิศเหนือ

ฝาผนัง ด้านทิศเหนือ

หางหงส์รูปหัวพญานาคปูนปั้น