ธาตุตาดทอง

          บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

          ธาตุตาดทองตั้งอยู่ที่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นวงรี วางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้   พระธาตุ หรือธาตุ เป็นภาษาท้องถิ่นอีสาน ใช้เรียกสิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับคำว่า เจดีย์ หรือ สถูป ของภาคกลาง แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างสายศิลปวัฒนธรรมไท – ลาว ทำให้สถาปัตยกรรมของพระธาตุ ในภาคอีสาน มีลักษณะแตกต่างจากเจดีย์ หรือ สถูป ที่มีพัฒนาการมาจากอินเดีย ของทางภาคกลางของประเทศไทย


ด้านทิศตะวันออก

          ประวัติความเป็นมาของธาตุตาดทองได้มีตำนานกล่าวไว้ 2 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องที่แรกกล่าวไว้ว่า มีผู้คนในลุ่มแม่น้ำมูลส่วนหนึ่ง (อ.รัตนบุรี) ทราบข่าวว่ามีการบูรณะพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม จึงได้รวบรวมวัตถุมงคลสิ่งของมีค่า เพื่อจะนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม ได้เดินทางมาพักอยู่ใกล้ๆ กับบ้านตาดทอง ในขณะนั้นชาวบ้านสะเดาตาดทอง ที่ไปช่วยบูรณะพระธาตุพนมเดินทางกลับมาพอดี และได้แจ้งว่าการบูรณะพระธาตุพนมเสร็จสิ้นแล้ว ผู้คนเหล่านั้นจึงตัดสินใจสร้างเจดีย์ครอบวัตถุอันมีค่าที่นำมาด้วยนั้นไว้ ประกอบกับชาวสะเดาตาดทองได้นำถาดทองที่ใช้เป็นพานอัญเชิญวัตถุมงคลไปบรรจุในพระธาตุพนมมารองรับวัตถุมงคลที่ญาติพี่น้องจากลุ่มน้ำมูลนำมาแล้วช่วยกันก่อเจดีย์บรรจุไว้

 
             ด้านทิศเหนือ                                            พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในอูบมุง

          ตำนานเรื่องที่สอง กล่าวว่า ในระหว่างการก่อสร้างเจดีย์องค์นี้ ได้เกิดเหตุการณ์ลูกฆ่าแม่ เพราะความโมโหหิวเมื่อก่อสร้างเจดีย์องค์นี้เสร็จคนก็มักเรียกเจดีย์นี้ควบกับเหตุการณ์ท้องถิ่นที่เกิดเรื่องว่า ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่

          ลักษณะของธาตุก่องข้าวน้อย (ถาดทอง) เป็นธาตุทรงสี่เหลี่ยม รับอิทธิพลมาจากพระธาตุอานนท์   วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร สถาปัตยกรรมของธาตุตาดทองประกอบด้วย ส่วนฐาน มีลักษณะเป็นฐานเขียงซ้อนกัน 4 ชั้น ถัดไปเป็นฐานบัว ตรงกลางเป็นท้องไม้ มีลูกแก้วอกไก่ขั้นตรงกลาง ส่วนเรือนธาตุ ยื่นซุ้มออกมาทั้ง 4 ทิศ เป็นซุ้มจรนำ ส่วนยอดธาตุมียอดแซมทั้ง 4 ทิศ และก่อยื่นมาจากยอดจริง


ส่วนยอดธาตุ


ส่วนเรือนธาตุ


ส่วนฐานธาตุด้านทิศเหนือ

          พื้นที่บริเวณธาตุตาดทอง มีกลุ่มธาตุบริวารรอบธาตุตาดทอง มีลักษณะจำลองจากพระธาตุองค์ใหญ่แต่มีลักษณะที่เรียบง่ายกว่า ด้านหน้าขององค์ธาตุมีอูบมูง ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก เป็นสถาปัตยกรรมแบบอีสานลาว หลังคาโค้งมน ประดับลายปูนปั้น บริเวณสันมุมทั้งสี่ของหลังคาเป็นรูปพญานาคผงกหัวขึ้นที่ส่วนปลาย ลำตัวทอดยาวไปตามความโค้งของหลังคา ส่วนยอดคล้ายองค์ธาตุจำลอง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังพบใบเสมาจำนวนหลายหลักปักอยู่ในบริเวณนี้ด้วยเช่นกัน

          ธาตุตาดทองได้รับการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2497 กำหนดขอบเขตโบราณสถานในเล่มที่ 99 ตอนที่ 155 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2525 มีเนื้อที่ 3 งาน 99 ตารางวา