บ้านคูเมืองตั้งอยู่ในเขตคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเนินดินที่เป็นแหล่งโบราณคดีมีอาณาเขต จำนวน 3 หมู่บ้านได้แก่ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 7 มีเนื้อที่ประมาณ 350x600 เมตร บ้านคูเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอวารินชำราบมาทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร


สภาพโดยรวมของโบราณสถานภายหลังบูรณะ

การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมโบราณสถานโนนแก

          อาคารหมายเลข 1 เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด9x12.50 เมตร โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลง ก่อสูง 50 เซนติเมตร จากระดับพื้นผิวดินเดิม แกนอาคารด้านยามวางอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก อันเป็นแกนทิศสำคัญของโบราณสถานภายในขอบเขตของฐานมีแนวเสาไว้วางอยู่ตามแกนทิศสำคัญนี้อยู่ 4 แถวๆละ 6 ต้น เสาแถวในรองรับหลังคาเครื่องบน เสาแถวนอกรองรับโครงสร้างหลังคาปีกนก ผนังทั้ง 4 ด้าน เปิดโล่ง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) อาคารหมายเลข 1 นี้น่าจะใช้ประโยชน์เป็นวิหารโถง หลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่มีรูปแบบเหมือนกับกระเบื้องดินเผาที่พบในกลุ่มโบราณสถานแบบศิลปะเขมรโดยทั่วไป


แนวกำแพงด้านทิศตะวันตก

          อาคารหมายเลข2 เป็นอาคารแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 4.50x10 เมตร สันนิษฐานว่ามีความสูง 6.30 เมตร โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงผิวภายนอกฉาบปูน ก่อขึ้นสูง 1 เมตร จากผิวดิน ด้านหน้ามีบันไดทางเข้าโดยก่อเป็นห้องมุข มีผนัง 3 ด้าน เปิดโล่ง ยกเว้นทางด้านทิศตะวันตกจะเป็นผนังไม้ มีประตูทางเข้าสู่ตัวอาคาร มีผนัง 4 ด้าน สร้างด้วยไม้ โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้รองรับกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ซึ่งหลังคาจะรองรับด้วยเสาไม้ภายในอาคารจำนวน 2 แถว แถวละ 4 ต้น และมุขด้านหน้ามีเสารองรับหลังคาอีก 2 ต้น สันนิษฐานว่าผนังด้านหลังของอาคารจะสร้างติดกับแท่นฐานชุกชี ประดิษฐานพระประธาน โดยก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน สูงประมาณ 70 เซนติเมตรซึ่งมีลักษณะอาคารที่เรียกว่า “สิมทึบ” คือสิมที่ทำผนังปิดทึบทั้ง 4 ด้าน


แนวกำแพงด้านทิศตะวันออก

          อาคารหมายเลข 3 เป็นอาคารแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6x9.80เมตร สันนิษฐานว่ามีความสูง 6.70 เมตร สร้างหันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตก ชนกับด้านหน้าของอาคารหมายเลข 2 โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนผนังก่อด้วยศิลาแลงหรืออิฐฉาบปูน ด้านหน้ามีบันไดทางเข้าโดยก่อเป็นมุข มีผนังสามด้านเปิดโล่ง ยกเว้นทางด้านตะวันออก เป็นผนังของซึ่งมีประตูทางเข้าสู่อาคาร ผนังสามด้านของอาคารก่อทึบมีช่องลมอยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้รองรับกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ซึ่งหลังคาจะรองรับด้วยเสาไม้ภายในอาคารอาคารจำนวน 2 แถว แถวละ 3 ต้น และทางด้านหลังติดกับฐานพระจะมีเสาเพิ่มอีก 1 ต้น ตรงกลาง ทางด้านหน้ามีเสา 4 ต้น รองรับโครงหลังมุข

          อาคารหมายเลข4 เป็นซากโบราณสถานที่พังทลายหมดแล้ว เนื่องจากการลักขุดและดัดแปลงโบราณสถานในสมัยหลัง จึงไม่สามารถศึกษารูปแบบเดิมได้ อย่างไรก็ดีหลุมขุดตรวจฐานรากอาคารพบว่ามีร่องรอยการก่อสร้างฐานรากในสมัยเดียวกับอาคารหมายเลข 1 จึงอาจกล่าวได้ว่า มีการก่อสร้างศาสนสถานประธาน ขึ้นในกลุ่มซากปรักหักพังของหินแลงได้ ประกอบกับตำแหน่งที่พบฐานรากเป็นตำแหน่งกึ่งกลางของแกนหลักของโบราณสถานด้วย


ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก

          รูปแบบของการสร้างอาคารวิหารด้านข้างปราสาทประธาน และมีกำแพงล้อมรอบนี้อาจเปรียบเทียบได้กับปราสาทโดนตรวล อ.กันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ นับเป็นปราสาทหลังเดียวที่มีปราสาทประธานและวิหารด้านข้าง ล้อมรอบด้วยกำแพงหิน สร้างขึ้นในราว พ.ศ.1545 นอกจากนี้ยังพบว่าปราสาทประธานสร้างด้วยหินแลงปนอิฐเหมือนกับที่โนนแก โดยมีส่วนฐานจนถึงเรือนธาตุ บางส่วนเป็นหินแลงปนอิฐ

          การขุดค้นพบโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศิลปะเขมร คือเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ซ่ง หรือที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มชนในวัฒนธรรมเขมรที่มาใช้พื้นที่เหนือวัฒนธรรมแบบทวารวดี เพื่อสร้างศาสนสถานสมัยแรกที่โนนแกนี้ น่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนที่ปราสาทโดนตรวลด้วย


แนวกำแพงด้านทิศใต้

          จากหลักฐานที่พบใบเสมาหินจำนวน 7 คู่ วางหันหน้าเข้าหาอาคารหมายเลข 2 และ 3 และใบเสมา 1 คู่ วางตำแหน่งซ้อนอยู่บนแนวอาคารหมายเลข 1 คงจะหมายถึงการเลิกใช้ประโยชน์จากอาคารหมายเลข 1 และให้ความสำคัญกับอาคารหมายเลข 2 และ 3 แทน ซึ่งมีลักษณะอาคารที่เรียกว่า “สิม” ที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งก่อสร้างด้วยอิฐ ชาวบ้านเรียกธาตุอูบมุง ห่างออกไปจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร สภาพของโบราณสถานเหลือแต่ส่วนฐานเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เคยมีการลักลอบขุดหาของโบราณหลายครั้ง พบพระพุทธรูป พระพิมพ์จำนวนมาก จากการสอบถาม พ่อใหญ่บุญมา คำพาทู เล่าให้ฟังว่า ท่านเคยเห็นธาตุอูบมุงก่อนที่จะเหลือฐานในปัจจุบันว่า มีความสูงประมาณ 1 เส้น 5 วา และมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของชาวบ้าน จึงไม่ยอมให้มีการลักลอบขุดอีก โบราณวัตถุต่างๆที่พบที่ธาตุอูบมุงน่าจะเป็นศิลปะลาว พุทธศตวรรษที่ 23-24 เป็นสมัยที่บรรพบุรุษ ของราษฎรคูเมืองมาอาศัยอยู่แล้ว แต่จากการสำรวจพบวัสดุที่ใช้เป็นอิฐ เมื่อสังเกตก้อนอิฐแต่ละก้อนพบว่ามีการขัดฝนที่หน้าอิฐแต่ละก้อน ลักษณะเช่นนี้ พบทั่วไปตามปราสาทอิฐทั้งหลายในวัฒนธรรมเขมร นอกจากนี้ยังพบหินทรายตกหล่นอยู่ทั่วไปด้วย สันนิษฐานในชั้นต้นว่าธาตุอูบมุงนี้จะมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบปราสาทอิฐเขมร ซึ่งน่าจะร่วมสมัยกับคันดินรูปสี่เหลี่ยมของเมืองโบราณและโบราณสถานโนนแก


แผนที่