วัดโพธิ์ชัย
          ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหนาว ตำบลหนองบัว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

 

          วัดโพธิ์ชัยตั้งอยู่ที่บ้านหนองหนาว ตำบลหนองบัว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ภายในมีโบราณสถานสำคัญ คือ อุโบสถ (สิม) และอาคารปริยัติธรรมหลังเก่า ซึ่งเป็นอาคารทรงยุโรป สะท้อนอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกซึ่งเป็นแบบที่นิยมใช้กันทั่วไปในพื้นที่สองฟากแม่น้ำโขงในช่วง 60-100 ปีมาแล้ว

          อุโบสถ (สิม) สร้างเมื่อ พ.ศ.2456 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าผนังทึบทั้ง 4 ด้าน วางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก และหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีบันไดทางขึ้นผายออกทำราวบันไดเป็นพญานาคทั้ง 2 ข้าง  ส่วนฐานเป็นชุดฐานบัวงอนลูกแก้วอกไก่ ประตูอุโบสถทำด้วยไม้ 2 บาน  เหนือกรอบประตูมีป้ายข้อความระบุ “สร้างเมื่อ พ.ศ.2456 บูรณะครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2551” เหนือขึ้นไปทำเป็นซุ้มปีกกาเชื่อมระหว่างช่วงเสา ส่วนหน้าบันทำเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นนูนต่ำประทับนั่งขัดสมาธิพนมมือบนดอกบัว ทามกลางรูปนาคเกี้ยว หัวเสาทำเป็นกลีบบัวแวง ทาด้วยสีทอง ผนังด้านข้างอุโบสถแบ่งเป็น 3 ช่วงเสา โดยช่วงเสาที่ 1 และ 3 ทำเป็นช่องแสงจำนวน 3 ช่อง เหนือช่องแสงทำเป็นซุ้มปีกกาเชื่อมระหว่างช่วงเสา ส่วนช่วงเสาที่ 2 ทำเป็นช่องหน้าต่างไม้ เหนือกรอบหน้าต่างทำเป็นซุ้มปีกกาเชื่อมระหว่างช่วงเสา เสาทุกต้นมีคันทวยรูปนาครองรับแปหัวเสา ส่วนหน้าบันด้านหลังทำรูปปูนปั้นนูนต่ำรูปอมนุษย์คายนาคเทินเรือบรรทุกต้นไม้ทอง ด้านซ้ายและด้านขวาทำเป็นรูปนาคเกี้ยวทาด้วยสีทอง หัวเสาทั้งสองมุมทำบัวแวงทาสีทอง ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงแป้นเกล็ดไม้ มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แบบภาคกลางประดับ

          อาคารปริยัติธรรม (หลังเก่า) เป็นอาคารทรงยุโรปมีลักษณะเป็นทรงแปดเหลี่ยมใต้ถุนสูง วางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก มีบันไดทางขึ้น 2 ด้าน คือมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนประตูทางขึ้นชั้นบนชำรุดทั้ง 2 ด้าน สันนิษฐานว่าเป็นไม้ ปัจจุบันได้มีการนำออกไปแล้ว เหนือกรอบประตูด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีข้อความระบุ “เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2493” ผนังอาคารด้านหน้าแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเสา แต่ละช่วงเสาเจาะเป็นช่องโค้งและมีราวระเบียง ภายในอาคารแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ส่วน พื้นอาคารปูด้วยไม้กระดาน หัวเสาทำเป็นบัวแวงทาสีน้ำเงินสลับสีน้ำตาล ตัวอาคารทาสีเหลือง ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงปั้นหยา ปัจจุบันมุงสังกะสี

         วัดพันธุเวสน์ 
         หมู่ 4 79 ตำบล บุ่ง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำนาจเจริญ 37000

         

          วัดพันธุเวสน์ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2435 โดยหลวงพ่อพันธ์ หลังจากที่บวชเป็นพระภิกษุและไปศึกษาพระธรรมที่หลวงพระบาง ประเทศลาว เป็นเวลาถึง 15 ปี และมีเจ้าอาวาสสืบต่อมาจนปัจจุบัน เท่าที่ทราบนามได้แก่  รูปที่ 1 พระพันธ์ รูปที่ 2 พระปา มหาปญฺโญ รูปที่ 3 พระน้อย สิริจนฺโท  รูปที่ 4 รูปที่ 5 พระลอง รูปที่ 6 พระสถัด ขนฺติโก รูปที่ 7 เจ้าอธิการผดุง ฐิตธมฺโม รูปที่ 8 พระครูสุตวัฒนคุณ วัดพันธุเวสน์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 สังกัดคณะสงฆ์นิกาย อาคารเสนาสนะประกอบด้วยกุฏิสงฆ์จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารไม้ 5 หลังและตึก 1 หลัง นับเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ 

         ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดพันธุเวสน์

          1.อุโบสถเก่า (สิมเก่า) 

ภาพแสดงบริเวณด้านข้างของอุโบสถ(สิม)เก่า

             มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3 ห้อง วางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก  โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 4.90 เมตร ยาว 9.40 เมตร ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบช่างญวนจากประเทศลาว โดยส่วนฐานเป็นชุดบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชุด ซึ่งฐานส่วนล่างจมอยู่ใต้ดิน รองรับฐานเขียง 1 ชั้น เหนือฐานเขียงเป็นบัวคว่ำ โดยเจาะเป็นช่องประทีปแบบวงโค้งโดยรอบอาคาร ตัวอาคารมีระเบียงด้านหน้า แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเสา โดยเสาแต่ละต้นปั้นปูนเป็นบัวที่หัวเสารองรับวงโค้งที่ทำเป็นหยักตามแนวของวงโค้ง ราวระเบียงทั้งด้านหน้าและด้านข้างก่อเป็นผนังทึบ เจาะเป็นช่องประทีปแบบวงโค้งที่ด้านข้างเป็นแถวเรียงต่อเนื่อง มีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงช่วงเสากลาง กว้างประมาณ 2.60 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร ราวบันไดทั้งสองข้างทำเป็นรูปสัตว์หิมพานต์แบบศิลปะลาว มีประตูทางเข้าช่องเดียว บานประตูไม้แบบ 2 บานเปิดเข้า ส่วนด้านใน ผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน เจาะเป็นช่องหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ปัจจุบันปิดตายด้วยแผ่นสังกะสี ผนังด้านหลังก่อปิดทึบตลอดทั้งด้าน ส่วนเครื่องหลังคาไม้ทำเป็นทรงจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น มุงด้วยสังกะสี ด้านหน้าก็ปิดทับด้วยสังกะสีเช่นกัน ภายในอาคารมีแท่นฐานชุกชีอยู่ติดกับผนังด้านหลังแต่ไม่มีพระประธานประดิษฐานไว้ มีเพียงพระพุทธรูปไม้ 2 องค์ ตั้งอยู่ภายใน

ภาพแสดงบันไดของอุโบสถ(สิม)เก่า ทำเป็นรูปนาคเฝ้าประตู บันไดจะผายออกเป็นการสร้างโดยได้อิทธิของช่างญวนจากประเทศลาว

ภาพแสดงแท่นฐานชุกชีภายในของอุโบสถ(สิม)เก่า

 

           2.วิหารน้อยหรือหอพระ

ภาพแสดงบริเวณด้านขวาของวิหารน้อยหรือหอพระ

             มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 3 ห้อง วางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 3.9 เมตร ยาว 7.5 เมตร ส่วนฐานเป็นชุดบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชุด โดยฐานส่วนล่างฝังจมอยู่ใต้ดิน ถัดจากชุดฐานเป็นตัวอาคาร โดยส่วนหน้าทำเป็นระเบียงแต่มีลักษณะเป็นห้อง มีช่องประตูทางเข้ากึ่งกลางด้านหน้า ด้วยการก่ออิฐเป็นซุ้มแบบซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปเป็นยอกแหลม มีช่องหน้าต่างก่ออิฐในลักษณะเดียวกันทั้ง 2 ข้างของช่องประตู รวมทั้งผนังส่วนระเบียงทั้ง 2 ด้านด้วย ผนังด้านข้างอาคารทั้ง 2 ข้าง เจาะเป็นช่องหน้าต่างเพียง 2 ห้องแรก ส่วนห้องที่ 3 ก่อผนังปิดทึบไม่มีหน้าต่าง รวมทั้งผนังด้านหลังก็เช่นเดียวกัน ช่องหน้าต่างก่ออิฐแบบซ้อนเหลื่อมกันเช่นเดียวกับช่องบันไดทางขึ้นและช่องหน้าต่างระเบียง ภายในอาคารปูกระเบื้องดินเผาเคลือบสีน้ำตาลเทาลายเรขาคณิต ฐานชุกชีก่อเป็นแท่นสี่เหลี่ยมยกพื้นสูงยาวติดตลอดแนวผนังด้านหลัง ประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ พุทธศิลปะแบบลาว (พื้นถิ่นอีสาน) ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่วมุงด้วยสังกะสี

ภาพแสดงภายในวิหารน้อยหรือหอพระ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยพุทธศิลปะแบบลาว